ความเป็นมาขององค์เทพเทวา
เทพมีมาแต่พุทธกาล
กระแสความเคลื่อนไหวในการจัดสร้างวัตถุมงคลโดยเฉพาะ “ท้าวจตุคาม” “ท้าวรามเทพ” ซึ่งมีความเชื่อว่าจะต้องเริ่มพิธีในการบวงสรวงและปลุกเสกภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราชเนื่องจากเป็นต้นกำเนิดของเทพทั้ง 2 องค์ ทั้งนี้บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าความนิยมในการสะสมพระเครื่องปี 2550 ยังเฟื่องฟู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2549 คือ พระเก่าหาอยากมากขึ้น โดยกระแสความนิยมในพระเครื่องที่สร้างใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยผู้สร้างและแผงพระต่างๆพุ่งไปที่พระชุด “ ท้าวจตุคาม ” และ ” ท้าวรามเทพ ” ที่เกี่ยวเนื่องมีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 1000 ล้านบาท ในปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550
ทางด้านพระธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร ให้ข้อมูลว่า ในระหว่างเดือน มกราคม จนไปถึงเดือนเมษายน 2550 มีการติดต่อวัด พระมหาธาตุ เพื่อขอใช้สถานที่เพื่อประกอบพิธีปลุกเสกพระเครื่องโดยเฉพาะ ท้าวจตุคามรามเทพ มากกว่า 50 รุ่น ด้วยเหตุนี้เอง “องค์ท้าวจตุคามรามเทพ” จึงถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งยุค ทั้งวัดและหน่วยงานเอกชนต่างๆ ทั่วไทยสร้างออกมาให้บูชากันจำนวนมาก พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยอาจจะอดสงสัยไม่ได้ว่า “เป็นพระทำไมไม่สร้างพระแต่กลับไปสร้างเทพเจ้า เทพเจ้ากับพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกันอย่างไร”
และผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุด ณ.เวลานี้ คือ อ.ราม วัชรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ และรองคณะบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัล “แฟนพันธ์แท้พระเครื่องแห่งปี”
เทพเจ้าเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างไร ?
- การสร้างเทพเจ้าในพุทธศาสนานั้นแท้ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่น่าจะมีการสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล การสร้างเทพเจ้าโดยทั่วๆไปของทุกชาติเป็นคติความเชื่อพุทธศาสนาแบบมหายาน จะเน้นการจัดสร้างรูปเทพเจ้าในรูปแบบของพระโพธิสัตว์ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เจ้าแม่กวนอิม หรือเทพเจ้าต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีอิทธิพลของตันตระ หรือมนตระยาน ที่เน้นเรื่องราวของทวยเทพเทวาต่างๆ
ตามคติความเชื่อแล้วเทพเจ้าเข้าไปอยู่ในวัดได้อย่างไร ?
- การสร้างในวัดของพุทธศาสนาโดยเฉพาะวัดในประเทศไทยนั้นจะมีคติความเชื่อของพราหมณ์ฮินดูเข้ามาผสมผสานซึ่งไทยได้รับอิทธิพลมาจากขอม(เขมร)ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นทวยเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็จะเข้ามาผูกพันกับระบบความเชื่อทางพุทธศาสนา
แม้ว่าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจะถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเทพองค์หนึ่ง แต่เมื่อมาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทางพุทธศาสนาจะยกฐานะของพระพุทธเจ้าขึ้นเหนือกว่าเทพทุกๆองค์ เช่น ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดสัตว์โลก ก็จะมีทวยเทพต่างๆมากราบไหว้ขอให้พระองค์ลงมาช่วยสัตว์โลก ในภาพจิตกรรมฝาผนังก็จะปรากฏภาพวาดที่เรียกว่าเทพชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณฝาผนังขององค์พระประธานทั้งสองด้านจะพนมมือไหว้ไปทางพระประธานทั้งสองด้าน แต่ถ้าเป็นคติของฮินดู พระพุทธเจ้าจะเป็นเพียงปางหนึ่งของพระนารายณ์ที่เรียกว่า “ปางพุทธาวตาร” เท่านั้นแล้ว เทพเจ้าองค์อื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาจากไหน ?
- ทางพุทธศาสนายังได้มีการเพิ่มเรื่องราวเทพเจ้านอกเหนือจากพราหมณ์-ฮินดู เช่น พระอินทร์ ซึ่งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวจตุโลกบาล ที่ปกครองสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา คอยคุ้มครองโลกทั้ง 4 ทิศ และทวยเทพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับพุทธประวัติ เช่น พระนางวสุนทรวานี (พระแม่ธรณี) หรือ เทพประจำธรรมชาติอันเป็นที่พึ่งของวิถีชีวิตและการทำมาหากิน พระแม่โพสพ พระคงคา ที่สำคัญคือการสร้างเทพเจ้าประจำศาสนาจะผูกพันกับพุทธประวัติ
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทพอีกประเภทที่ปรากฏในงานวรรคดีชั้นสูงของราชสำนัก โดยเฉพาะวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ก็จะบอกเรื่องราวของทวยเทพต่างๆในขณะที่วรรณกรรมเรื่อง “ ขุนช้างขุนแผน ” ก็มีการสร้างเครื่องรางที่เรียกว่า “ กุมารทอง ” ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของการสร้างกุมารทองของสำนักต่างๆ
ทำไมเทพเจ้าต้องอยู่ในวัด ?
- เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางทางสังคมไทยสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตกรรมฝาผนัง งานจาลึก งานเขียนคัมภีร์ ใบลานต่างๆ ก็จะปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ต่างๆ ต่อมาจึงได้มีการสร้างเป็นรูปเคารพ จากเดิมที่วาดเพียงอย่างเดียว
การสร้างเทพในยุคๆแรก จะเป็นแบบศิลปะนูนต่ำ (นูนขึ้นมาจากผนังเล็กน้อย) จากนั้นพัฒนาเป็นศิลปะนูนสูง สุดท้านก็เป็นแบบลอยตัวในเวลาต่อมา บรรดาทวยเทพต่างๆก็จะผูกพันกับพระพุทธศาสนา ธรรมชาติ วิถีชีวิต และวรรณคดีผู้ที่อยากเห็นองค์จริงของเทพไม่ต้องจินตนาการ สามารถไปชมของจริงได้ในวัดต่างๆ
ทำไมคนจึงนับถือเทพเจ้ามากกว่าพระ ?
- จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเทพเจ้าทั้งปวง แต่เนื่องจากองค์เทพเหล่านี้มีอิทธิปาฏิหาริย์ช่วยเหลือพระพุทธเจ้าและด้านอื่นๆคนจึงเกิดความศรัทธา จากนั้นก็หันมากราบไหว้เทพฯเหล่านี้มากขึ้น ด้วยเหตุที่ท่านมีฤทธิ์ที่จะดลบันดาลให้ประสบผลสำเร็จด้านต่างๆ แตกต่างจากพระพุทธเจ้าในขณะที่มนุษย์ยังมีกิเลสจึงขอความช่วยเหลือจากเทพ ในขณะที่พระจะสอนให้ลดละเลิกกิเลสต่างๆ ถือว่าเป็นสุขที่สุด
ตำนานการสร้างเทพเจ้าในยุคโบราณที่ชัดเจนนั้นเริ่มกันในสมัยใด ?
- การสร้างเทพเจ้าเป็นรูปจำลองที่บรรจุกรุเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากขอม โดยเฉพาะกรุพระสมัยละโว้ (ลพบุรี) เช่น ที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ. ลพบุรี เทพที่พบ คือ พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ (พระวิษณุ) นอกจากนี้ยังพบพระฆเณศวร การพบเทพที่ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า ศาสนาพรามณ์-ฮินดู เจริญรุ่งเรืองยุคนั้นๆ แต่เป็นอิทธิพลที่เข้ามาผสมผสานกับพระพุทธศาสนา ส่วนทางภาคอีสานก็พบไม่มากก็น้อยกว่ากัน โดยเทวรูปต่างๆการสร้างเทพในยุคนี้เป็นเทพสำหรับกราบไหว้บูชาแล้วเทพเจ้าขนาดพกพา (แขวนคอ) เริ่มสร้างเมื่อใด ?
การสร้างเทพเพื่อติดตัวในรูปแบบพระเครื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักของวงการพระเครื่องต้องยกให้ พระร่วงหลังรางปืนกรุสุโขทัย กรุสวรรค์โลก จ.สุโขทัย พระร่วงหลังรายผ้า จ.ลพบุรี เชื่อกันว่าเป็นรูปเคารพแทน พระเจ้าสุริยวรมัน ซึ่งเป็นปางอวตาลของเทพในคติพราหมณ์-ฮินดู
เหตุที่ตั้งรูปเคารพแทน พระเจ้าสุริยวรมัน ว่าพระร่วงนั้น เพราะไปพบที่สุโขทัย ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับเรื่องราวของราชวงศ์ พระร่วงกษัตริย์ ของสุโขทัย เช่นเดียวกับการพบพระขุนแผนพิมพ์ต่างๆ ที่สุพรรณบุรี ทั้งๆที่เป็นองค์พระพุทธชินราช และเชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้สร้าง ก็เรียกกันว่าพระขุนแผน ตามตำนานท้องถิ่นของแห่งที่พบ ในสมัยอยุธยาพบการสร้างเทวรูปบ้างแต่ไม่มาก
การสร้างเทพในสมัยรัตนโกสินทร์เริ่มขึ้นอย่างไร ?
- สมัยรัตนโกสินทร์ รูปเคารพของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้รับความนิยมมากขึ้นในสมัยร.๑ ทรงมีการสร้างเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้มีการเชิญเทวรูปของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาประดิษฐานไว้ (พระอิศวร พระฆเณศวร พระวิษณุ) ส่งผลให้ความนิยมก็มีมากขึ้นตามลำดับต่อมาในสมัยร.๔ มีการสร้างเทพเจ้าขึ้นมาคุ้มครองบ้านเมือง ๑ องค์ คือ พระสยามเทวาธิราช โดยจำลองรูปเทวดาถือพระขันธ์ เป็นหลักชัยของบ้านเมืองเป็นต้นมา
แล้วมาตกอยู่ที่พระเกจิอาจารย์ได้อย่างไร ?
- จากคติความเชื่อเรื่องเทพ บรรดาเกจิพระคณาจารย์ที่ร่ำเรียน ทั้งพุทธาคมทางไสยาคมก็ได้จำลองรูปทวยเทพต่างๆ กันหลายมากขึ้น ที่โด่งดังและรู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการพระเครื่อง เช่น รูปหล่อ ท้าวเวสสุวรรณ ของเจ้าคุณศรี (สนธ์) วัดสุทัศน์ ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง นครปฐม กุมารทอง หลวงพ่อ เต๋คงทอง
การสร้างเทพของพระคณาจารย์ จะผูกติดกับพระพุทธศาสนามาตลอดทุกยุค จึงเรียกว่า พิธีพุทธาภิเษก ต่อมาเทพบางองค์ ไม่เกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา จึงมีการประกอบพิธีที่เรียกว่า เทวาภิเษกขึ้น
ที่มา.... จากหนังสือ ภควา ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๗ ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๕๐ (เปิดประเด็นสัมภาษณ์)